โรคหินปูนในหูชั้นในกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
December 07 / 2017

โรคหินปูนในหูชั้นในกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

 

 

 

โรคนี้เป็นโรคที่พบมากที่สุดในจำนวนผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนจากสถิติมีรายงาน พบโรคนี้ร้อยละ 20-30 ในคลินิก โรคเวียนศีรษะ ส่วนมากจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 1:5 – 2:1

สาเหตุของโรค

 

สาเหตุของโรคพอจะสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากเคยได้รับอุบัติเหตุทางศรีษะมาก่อนพบร้อยละ 47 เคยมีการติดเชื้อในหูชั้นในร้อยละ 26 เส้นประสาทหูอักเสบ คนสูงอายุหรือคนที่นอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน คนที่เครียดและขาดการออกกำลังกายพยาธิสภาพเกิดขึ้นในอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวรูปเกือกม้าในหูชั้นในพบที่ส่วนหลังมากที่สุด (ร้อยละ 90) รองลงมาเป็นส่วนที่อยู่ในแนวนอนร้อยละ 5-10 และส่วนที่อยู่ด้านหน้าร้อยละ 1 เชื่อว่าเกิดจากมีการตกตะกอนของสารที่อยู่ภายใน หรือมีหินปูนจากอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวข้างเคียงหลุดเข้ามาอยู่ภายในอวัยวะรูปเกือกม้า

 

อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน เป็นอย่างไร ?

 

ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ โดยเฉพาะในแนวดิ่ง เช่นมีอาการเวียนศีรษะเมื่อล้มลงนอนหรือลุกจากที่นอน ก้มหยิบของ เงยหน้ามองที่สูง หรือไปนอนสระผมที่ร้านทำผม เป็นต้น โดยในท่าเหล่านี้แรงดึงดูดของโลกจะมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนหินปูนหรือแคลเซียมที่อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศรีษะแบบบ้านหมุนตามด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนมักจะมีอาการไม่นาน มักเป็นแค่ช่วงวินาทีขณะที่ขยับศีรษะแล้วค่อยๆ หายไปเอง แต่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้อีก เมื่อผู้ป่วยขยับศีรษะในท่าเดิมอีก บางรายอาจมีอาการมึนศีรษะอยู่เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน

โดยทั่วไปอาการเวียนศีรษะในครั้งแรกจะรุนแรงต่อมาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง อาการเวียนศีรษะเป็นได้หลายๆ ครั้งต่อวัน มักเป็นอยู่หลายวันแล้วค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนในบางรายอาการจะกลับเป็นซ้ำขึ้นอีกในเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี

ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยินหรือมีเสียงผิดปกติในหูและไม่พบอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยรู้ตัวดีขณะเวียนศีรษะและไม่มีอาการหมดสติ

 

จะรักษาโรคหินปูนในหูชั้นในได้อย่างไร?

 

  • ให้คำแนะนำและรักษาตามอาการ เช่น ในขณะที่มีอาการให้หลีกเลี่ยงจากท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการส่วนใหญ่อาการจะดีขั้นเอง โดยเฉพาะหลังจาก 1 สัปดาห์ขึ้นไปและไม่เกินหนึ่งเดือน อาจให้ยาช่วยบำบัดอาการในระยะแรก ๆ ในกลุ่มนี้จะต้องระวังกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการและมีอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ปีนป่ายในที่สูง ดำน้ำ และขับรถยนต์
  • ให้การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ปัจจุบันนิยมและยอมรับว่าได้ผล การทำกายภาพบำบัดแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี วิธีแรกทำกายภาพบำบัดเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนหรือแคลเซียมออกจากอวัยวะทรงตัวในหูชั้นในที่เป็นรูปเกือกม้า เมื่อตะกอนหินปูนเคลื่อนออกมาแล้วก็จะไม่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะอีก วิธีนี้กระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเวียนศีรษะเท่านั้น


ส่วนวิธีที่ 2 จะแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปทำกายภาพบำบัดที่บ้าน ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อทำครั้งแรกๆ จะมีอาการเวียนศีรษะ แต่พอทำไปนานๆ ร่างกายจะปรับตัว อาการเวียนศีรษะจะดีขึ้นตามลำดับ


  • การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ทำกายภาพบำบัดวิธีที่ 1 และ 2 ไม่ได้ผล ติดตามผู้ป่วยอย่างน้อย 4-6 เดือน พบมีอาการอยู่ตลอดหรือกลับเป็นใหม่บ่อยๆ กลุ่มนี้แนะนำให้ทำการผ่าตัดซึ่งการผ่าตัดจะได้ผลดีมาก และไม่กลับมาเวียนศีรษะอีก