ภาวะสมองเสื่อม ในผู้สูงอายุ
December 13 / 2022

 

 

“สมองเสื่อม” (Dementia)  เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการทำงานของสมอง  ตั้งแต่ในด้านความทรงจำ  การใช้ความคิด  การตัดสินใจ  การเรียนรู้ในด้านต่างๆ  ความเข้าใจทางด้านภาษา  ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์  โดยโรคสมองเสื่อมมักเกิดกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป  ซึ่งความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มักจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น

อาการสมองเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท  ตามสาเหตุและบริเวณที่ได้รับผลกระทบ  ได้แก่

1.  อาการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับกระบวนการคิด หรือ กระบวนการรับรู้ 

2.  อากากรเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับทางด้านจิตใจ

โดยสาเหตุหลักของโรคสมองเสื่อม  เกิดจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหลายอย่างในด้านสมอง  ทำให้สมองทำหน้าที่ได้ลดลงและเหี่ยวลงไป  ได้แก่  ความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง  ซึ่งโรคเกี่ยวกับสมองเสื่อมที่รู้จักกันดี  ได้แก่โรคอัลไซเมอร์  และ  ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง  โรคสมองเสื่อมไม่ได้เป็นโรคติดต่อ  แต่อาจเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้

การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมทำได้จากประวัติที่ได้จากญาติเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะอาการของความผิดปกติที่สังเกตุได้ตั้งแต่แรกเริ่มจะเป็นประโยชน์อย่างมาก  หากได้รับการวินิจฉัยเพื่อแยกอาการและระบุว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมอย่างถูกต้อง  และประเมินความรุนแรงของอาการ  รวมไปถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  ได้แก่ การตรวจเลือดต่างๆ , การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomographic (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)  และการตรวจน้ำไขสันหลัง  เป็นต้น

                การรักษาภาวะสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับสาเหตุ  ซึ่งสามารถแบ่งภาวะสมองเสื่อมออกเป็น 2 แบบ  ได้แก่

                1.  ภาวะสมองเสื่อมที่สามารถรักษาให้หายขาดได้  เช่น  โรคเนื้องอกในสมอง , โรคไทรอยด์ , โรคติดเชื้อ , โรคขาดสารอาหารบางชนิด  เป็นต้น

                2.  ภาวะสมองเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  ซึ่งสาเหตุของโรคที่พบบ่อยที่สุดก็คือ  โรคอัลไซเมอร์  รองลงมา  คือ  หลอดเลือดสมองตีบ  ในการรักษาภาวะสมองเสื่อมนั้น  โดยส่วนใหญ่จะรักษาตามสาเหตุ  แม้ว่าจะรักษาให้หายขาดไม่ได้  แต่ก็สามารถลดภาวะของอาการ  หรืออาจยืดระยะเวลาในความเสื่อมของสมองให้ดีขึ้นได้

                ปัจจุบันสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง เช่น อัลไซเมอร์  ยังไม่เป็นที่แน่ชัด  แต่หากมีการดูแลสุขภาพอย่างดี  ก็สามารถยืดระยะเวลาในการใช้งานของสมองให้ยาวนานขึ้นได้  โดยปฏิบัติดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • ดื่มน้ำมากๆ

  • เข้าสังคมเพื่อพบปะเพื่อนหรือญาติบ่อยๆ

  • ฝึกฝนออกกำลังกายสมอง เช่น เล่นเกมส์ลับสมอง เป็นต้น

การดูแลสุขภาพของสมอง  และหมั่นสังเกตอาการของสมอง  เป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการยืดอายุของสมองให้ยาวนานขึ้น  หากพบสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นกับความทรงจำอาจเป็นไปได้ว่าอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้  โดยโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มีแพทย์เฉพาะทางพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจเช็คอย่างมีมาตรฐาน 

สามารถสอบถามได้ที่แผนกโรคเฉพาะทาง  โทร.053-920300 ต่อ 4000