ผู้หญิงหลายคนอาจเคยได้ยินโรคร้ายแรงอย่าง “มะเร็งปากมดลูก” มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่ามันอันตรายแค่ไหน หรือมีวิธีในการตรวจหาได้ยังไง โดยมะเร็งปากมดลูกมักไม่มีอาการในระยะแรก ไม่มีไข้ ตกขาว เลือดออก คันหรือแสบร้อน ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยรู้ตัวช้าซึ่งกว่าจะพบว่าตัวเองเป็นก็เข้าสู่ระยะที่รักษาได้ยากขึ้น
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้ก็คือ “การตรวจคัดกรอง” อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากตรวจเจอความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ โอกาสรักษาหายก็มีสูงมาก
มะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งสามารถติดต่อได้การมีเพศสัมพันธ์ โดยมะเร็งปากมดลูกจะมี 2 ระยะคือ ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง กับ ระยะที่เป็นมะเร็งแล้ว ซึ่งการรักษาให้หายจะต้องตรวจพบเจอตั้งแต่ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง มิฉะนั้นอาจจะลุมลากกลายเป็นก้อนมะเร็ง
ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้อย่างแม่นยำมากขึ้นโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกส่งตรวจด้วยวิธีที่เจาะลึกถึงระดับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่เรียกว่า HPV DNA testing วิธีนี้มีความแม่นยำสูงมากใกล้เคียง 100 % โดยใช้อุปกรณ์เก็บเซลล์จากช่องคลอดแล้วส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งมีงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนแล้วว่าถ้าเก็บเซลล์ถูกวิธีตามคำแนะนำจะมีความแม่นยำสูงมากเช่นเดียวกับวิธีที่แพทย์ตรวจคัดกรองโดยการใช้อุปกรณ์เก็บเซลล์จากปากมดลูก
ซึ่งการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีจากเซลล์ที่เก็บจากปากมดลูกทำให้รู้ความเสี่ยงและ ช่วยในการตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูกก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ล่วงหน้า 5-15 ปี ทำให้แพทย์มีเวลาที่จะทำการรักษาก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นมะเร็ง
การเตรียมตัวก่อนการเตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง
งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจอย่างน้อย 2 วัน
ไม่ควรสวนล้างหรือสอดยาทางช่องคลอดอย่างน้อย 2 วัน
หากอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรตรวจ
หลังอยู่ในช่วง 3 เดือนหลังไม่ควรตรวจ
ถ้ามีเลือดออกผิดปกติ มีหนอง ตกขาวมีกลิ่น คันช่องคลอดหรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ยังไม่ควรตรวจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
สามารถเข้ารับการตรวจก่อนหรือหลังประจำเดือน อย่างน้อย 1 สัปดาห์
ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์
บริเวณปากมดลูกไม่ต้องทำความสะอาด หรือ ใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น
ถอดกางเกงและชุดชั้นใน
ยืนหรือนั่งแยกขาในท่าที่ผ่อนคลาย
หมุนเพื่อเปิดไม้เก็บเซลล์ออกจากหลอดพลาสติก FLOQSwabs ระวังอย่าสัมผัสโดยส่วนแแปรง
สอดไม้เก็บตัวอย่างเซลล์เข้าไปในช่องคลอดจนถึงขีดสีแดง โดยให้ส่วนแปรงสัมผัสกับผนังช่องคลอด จากนั้นหมุนไม้เก็บตัวอย่างเซลล์ไปในทิศทางเดียวกันอย่างน้อย 4 รอบ หรือ ประมาณ 10 - 30 วินาที
ดึงไม้เก็บตัวอย่างเซลล์ออกจากนั้นเก็บเข้าไปในหลอดพลาสติกและปิดฝาให้แน่น จากนั้นนำส่งให้โรงพยาบาลทันที
คำแนะนำ DNA ของเชื้อไวรัส HPV จะคงอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ในอุณหภูมิ -20 ถึง 50 องศาเซลเซียส ฉะนั้นแล้วเมื่อเก็บตัวอย่างเซลล์เสร็จควรที่จะส่งให้กับโรงพยาบาลตรวจโดยเร็วที่สุดไม่เกิน 3 วันหลังจากเก็บเซลล์ หากเก็บไว้นานอาจส่งผลให้ผลตรวจหาเชื้อไวรัส HPV คลาดเคลื่อนได้
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถติดต่อได้ที่แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม โทร 052-004699