5 วิธีรับมือ เมื่อมีอาการ "ปวดเข่า"
January 09 / 2019



5 วิธีรับมือ เมื่อมีอาการ "ปวดเข่า"

อาการปวดเข่าในนักวิ่งที่พบบ่อยเรียกว่า "Patellofemoral pain syndrome" นอกจากการวิ่งแล้ว ภาวะนี้ยังพบได้ในผู้ที่ปั่นจักรยาน กีฬาที่มีการกระโดด การเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดการเสียดสีของลูกสะบ้ากับกระดูกต้นขา ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเข่าตามมา


โดยสามารถแบ่งสาเหตุของอาการปวดเข่าออกเป็น 3ประเภท ดังนี้
1. มีแรงกระแทกที่ข้อเข่ามากจากการใช้งานข้อเข่ามากเกินไป เช่น เพิ่มระยะทางหรือความถี่ในการวิ่งมากเกินไป การวิ่งลงส้นเท้าและก้าวยาวเกินไป (Over stride) การวิ่งลงเนิน หรือขึ้นลงบันไดบ่อยๆ จะทำให้เกิดแรงกระกระแทกในข้อเข่ามากขึ้น
2. โครงสร้างของขาที่ผิดปกติ เช่น เท้าแบน เข่าชี้เข้าด้านใน ลูกสะบ้าเฉออกด้านนอกเวลาที่งอเหยียดเข่า ทำให้เกิดแรงเสียดสีในข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น
3. กล้ามเนื้อขาไม่สมดุล เช่น กล้ามเนื้อต้นขาด้านใน (Vastus medialis) และกล้ามเนื้อกางสะโพกอ่อนแรง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและต้นขาด้านหลังตึงเกินไป เป็นต้น
 

วิธีดูแลรักษาเบื้องต้น
1. พักการใช้งานของข้อเข่า หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการกระแทกในข้อเข่า เช่น การวิ่ง การกระโดด หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง
2. ถ้ามีอาการปวดหลังจากการวิ่ง ให้ประคบเย็นรอบๆ ข้อเข่า ประมาน 10-15 นาที
3. ออกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามสะโพกด้วยท่า Leg extension, Hip abduction เพื่อช่วยรองรับแรงกระแทก และสร้างความสมดุลของข้อเข่า
4. ถ้าอาการปวดทุเลาลงแล้วให้กลับไปเริ่มต้นวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากระยะทางน้อยๆ ก่อน ถ้าไม่มีอาการปวดจึงเพิ่มระยะทางมากขึ้น 
5. ปรับท่าวิ่งโดยการลงน้ำหนักที่ปลายเท้า (Forefoot, Midfoot stride) จะช่วยลดแรงกระแทกที่ข้อเข่าลงได้ การเพิ่มรอบขาและการโน้มตัวไปข้างหน้าขณะวิ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดการก้าวยาวเกินไป (Over stride) จึงช่วยลดการบาดเจ็บที่ข้อเข่าได้อีกเช่นกัน

**หากปฏิบัติตามวิธีข้างต้นแล้ว อาการปวดไม่ทุเลาลง** ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น มีการสึกของกระดูกอ่อนใต้ลูกสะบ้า หรือข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดด้วยแสงเลเซอร์ความเข้มข้นสูง (High power laser therapy) ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการปวด และกระตุ้นการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อบริเวณข้อเข่า ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.กฤตเมธ เดชเกรียงไกรกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม