ฟื้นฟูความจำ ต้องหมั่น Exercise สมอง
November 18 / 2022

 

“ความจำ” ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมอง  คงไม่มีใครที่อยากจะมีภาวะความจำที่ถดถอย หรือมีอาการหลงลืมมากขึ้นตามอายุ  ผู้สูงอายุหลายคนมักจะมีอาการสมองสั่งการช้าลง  เริ่มมีอาการหลงๆลืมๆ  หรืออาจมีภาวะของโรคที่เกี่ยวกับความจำ เช่น อัลไซเมอร์ ขึ้นมาได้

            ดังนั้น  หลายคนจึงพยายามหาทางที่จะรักษาประสิทธิภาพการจำให้ดีขึ้น  การออกกำลังของสมองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อลดอาการความเสื่อมของสมองให้ช้าลง  เคยมีการศึกษาเรื่องการฝึกออกกำลังกายของสมองในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี  โดยนำเอากลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,800 คน  มาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม  และจัดให้มีกิจกรรมดังนี้

            กลุ่มที่ 1  ได้รับการฝึกความจำ  โดยเน้นการฝึกสมาธิ  และการฝึกให้จำสิ่งของและเรื่องราวต่างๆ

            กลุ่มที่ 2  ฝึกเรื่องการคิดโดยเน้นไปที่ความมีเหตุมีผล

            กลุ่มที่ 3  ได้รับการฝึกให้คิดและตอบสนองไว  เช่น การตั้งโจทย์ให้บรรยายสิ่งที่เห็นในจอตามระยะเวลาที่กำหนด

            กลุ่มที่ 4  ไม่ต้องเข้ารับการฝึกใดๆ

            ผลการศึกษาออกมาว่า  “กลุ่มที่ 3” ที่ถูกฝึกให้คิดและตอบสนองให้ไว  เป็นกลุ่มที่มีคุณภาพของสมองดีที่สุด และ “กลุ่มที่ 4” เป็นกลุ่มที่มีความเสื่อมของสมองเร็วที่สุด  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การฝึกและใช้สมองอยู่เป็นประจำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสื่อมของสมองให้ช้าลงได้นั่นเอง

            ซึ่งการกระตุ้นให้สมองทำงานโดยไม่เสื่อมสภาพเร็ว  ก็เหมือนการออกกำลังกายสมองให้มีการใช้งานอย่างเป็นประจำ  ได้แก่  การฝึกการใช้ทักษะมือ เท้า และ ประสาททั้ง 5 ในการรับรู้ข้อมูล  รวมไปถึงการเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง  ให้เกิดการเชื่อมโยงของระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และสมองในส่วนต่างๆให้ทำงานประสานกันได้อย่างเป็นระบบ  เช่น การเต้นรำ  ที่เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองทั้ง 2 ซีกให้ทำงานพร้อมกัน  โดยสมองซีกซ้ายต้องทำความเข้าใจในจังหวะ ทำนอง และ คิดท่าเต้น  ขณะเดียวกันสมองซีกขวาจะต้องเข้าถึงความรู้สึกถึงอารมณ์เพลง ผู้สูงอายุจึงสามารถใช้การเต้นรำในการออกกำลังกายสมองได้เป็นอย่างดี

            นอกจากนี้  การทำจิตใจให้แจ่มใส  การทำสมาธิ  และ การทำกิจกรรมต่างๆประจำวันที่ท้าทาย แปลกใหม่ และ ซับซ้อนมากขึ้น  ก็ถือเป็นการออกกำลังสมองได้อีกด้วย  เช่น  การฝึกแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด , การเปลี่ยนมือในการจับเมาส์คอมพิวเตอร์ , การเปลี่ยนมือข้างที่จับช้อนส้อม , เป็นต้น  รวมไปถึงการฝึกใช้สมองในการคิดเลข หรือ เล่นเกมปริศนาลับสมองต่างๆ เช่น ซูโดกุ , ปริศนาอักษรไขว้ , เป็นต้น

            การเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันให้แตกต่างออกไปบ้าง  โดยไม่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นต้องเดือดร้อน  ก็ถือเป็นการบริหารสมองที่ดีด้วยเช่นกัน  เคยมีเรื่องเล่าว่า Bill Gates มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Microsoft ขับรถไปทำงานโดยใช้เส้นทางที่แตกต่างกันในแต่ละวัน  ซึ่งการได้เจอกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจะสามารถเป็นการฝึกให้สมองได้มีโอกาสได้คิด และ ฝึกการจำเส้นทางไปในตัวด้วย

            ดังนั้นหากเราต้องการจะรักษาความทรงจำของเราให้มีประสิทธิภาพอยู่นานที่สุดแล้ว  เราจึงควรหมั่นให้เวลากับสมองของเราได้ออกกำลังอยู่เป็นประจำ  และทำให้สมองปลอดโปร่ง  ฝึกสมาธิ ทำความคิดให้สงบ ไม่คิดมาก  หมั่นออกกำลังกายด้วยการเดินในสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง  เพียงเท่านี้ก็จะรักษาความทรงจำของเราให้คงอยู่นานขึ้น  แม้จะมีอายุที่มากขึ้นแล้วก็ตาม

            นอกจากนี้สาเหตุของการหลงลืมหรือการสูญเสียความจำอาจมีจากปัญหาทางกายภาพก็ได้  เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างเต็มที่  เป็นต้น  ดังนั้นหากมีอาการหลงลืมบ่อยขึ้นจนดูผิดปกติ  แพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยโดยการสแกนสมองผ่านเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging)  รวมไปถึงการตรวจภาวะสมองเสื่อมตามรายการตรวจสุขภาพสมองของแพทย์  ซึ่งโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มีแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย  คอยตรวจเช็คสุขภาพสมองของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ 

สามารถติดต่อได้ที่ แผนกโรคเฉพาะทาง โทร.052-004699 ต่อ 4000,4098

แพ็กเกจตรวจภาวะสมองเสื่อม >> https://www.chiangmairam.com/readpackage/65