ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา
November 18 / 2022

 

“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา”  ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึง  การหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจด้านล่างซ้าย  ซึ่งมีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย  ซึ่งมักจะมีสาเหตุเกิดจากโรคความดันโลหิตสูงกว่า 90%  โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการบ่งบอก หรือ ไม่ได้สนใจที่จะรักษา  ทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น  ส่งผลให้หัวใจห้องล่างซ้ายพองโต  จนอาจนำมาสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด

                นอกจากนี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ  ยังเป็นโรคหัวใจชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุด  โดยโรคนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ  หากมีอาการก็มักจะเป็นอาการจากโรคที่เป็นต้นเหตุ  เช่น  หากสาเหตุเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง  อาการที่เกิดขึ้นมักจะเป็นอาการปวดศรีษะ มึนงง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ  ซึ่งแพทย์จะต้องทำการสอบถามอาการอย่างละเอียดก่อนจะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจน

                ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา  จะเป็นการรักษาตามอาการของโรคที่เกิดขึ้น  เช่น หากเกิดอาการเนื่องจากสาเหตุของความดันโลหิตสูง  จะรักษาโดยการควบคุมอาหารเค็มควบคู่ไปกับการให้ยาลดความดัน  ทั้งนี้การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา  อาจไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางลง  แต่จะเป็นการควบคุมไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น  เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหัวใจโต  และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

                สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยากเกิดความเสี่ยงต่ออันตรายของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาอีกอย่างหนึ่ง  คือ  ควรงดสูบบุหรี่  เพื่อเป็นการรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา  อาจส่งผลให้เกิดภาวะดังต่อไปนี้

  • Sudden Death  ซึ่งเกิดมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาได้  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักกีฬาหรือออกกำลังกายอย่างหนัก  ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบให้ละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดเป็นอันตรายก่อนการแข่งขันที่ต้องทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)  ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา  มักจะมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ  อีกทั้งยังมีอาการของความดันโลหิตสูง  ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย อาจมีอาการแน่นหน้าอกขึ้นมาได้  ซึ่งอาจเป็นสาเหตุไปสู่อาการของภาวะหัวใจล้มเหลวได้

  • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก  (Atrial fibrillation)  เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา  เนื่องจากมีการเกิดแรงดันที่หัวใจห้องบนมากขึ้น  สืบเนื่องตามมาจากแรงดันของหัวใจห้องล่างที่เพิ่มขึ้นจากผลของโรคนี้  ทำให้หัวใจห้องบนเกิดการขยายและทำงานผิดปกติ  ส่งผลให้โลหิตเข้าสู่หัวใจห้องล่างซ้ายลดลง  เกิดภาวะของความผิดปกติของหัวใจมากขึ้นไปอีก 

“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา”อาจไม่มีอาการของโรคที่ชัดเจน  แต่เป็นโรคที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ  และมีอาการของโรคที่หลากหลาย  และส่งผลถึงชีวิต  เช่น  การเสียชีวิตฉับพลัน หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว  ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตอาการ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อตรวจเช็คความผิดปกติของหัวใจได้แต่เนิ่นๆ  ซึ่งโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มีโปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจ โดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะดวกในการตรวจและไม่เจ็บ เพื่อช่วยวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที

สามารถติดต่อได้ที่แผนกโรคเฉพาะทาง  โทร.052-004699 ต่อ 4000,4098

แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ >> https://www.chiangmairam.com/readpackage/76