อาการ สาเหตุและการรักษาของโรคเบาหวาน
July 04 / 2025

โรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวาน (Diabetes) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ในปี 2567 คนไทยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 6.5 ล้านคน (ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค) ซึ่งโรคเบาหวานไม่ใช่แค่เรื่องของ “น้ำตาลในเลือดสูง” อย่างเดียว แต่มันส่งผลต่อสุขภาพในหลายด้าน ทั้งระบบหัวใจ เส้นเลือด ไต ดวงตา และแม้แต่ระบบประสาท 

สิ่งที่น่ากลัวคือ อาการมักจะมาแบบเงียบ ๆ ไม่ส่งสัญญาณเตือนชัดเจนในช่วงแรกรู้ตัวอีกทีตอนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น ตาพร่ามัว แผลหายช้า หรือรู้สึกชาตามมือเท้า

โรคเบาหวานคืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ สาเหตุหลักเกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ระดับน้ำตาลจึงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

 

โรคเบาหวานทั้ง 4 ชนิด

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)

เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ หรือสร้างได้น้อยมาก เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน มักพบในเด็กและวัยรุ่น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องได้รับการฉีดอินซูลินตลอดชีวิต 

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus)

เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินที่ผลิตออกมาไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มักจะสัมพันธ์กับภาวะโรคอ้วน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น ประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย

 

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นในช่วงที่หญิงตั้งครรภ์ โดยมักพบในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งฮอร์โมนที่สร้างจากรกในครรภ์จะไปขัดขวางการทำงานของอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

 

โรคเบาหวานมีผลกระทบต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

 

  • ทารกอาจตัวโตเกินปกติ ทำให้คลอดยาก มีความเสี่ยงที่ต้องใช้วิธีผ่าคลอด

  • ทารกอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด และเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ

  • มีความเสี่ยงสูงการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

 

4. โรคเบาหวานชนิดอื่น (Specific Types of Diabetes)

เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุเฉพาะเจาะจง แตกต่างจากเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน หรือโรคอื่น ๆ

 

  • Maturity-Onset Diabetes of the Young (MODY) เป็นโรคเบาหวานที่มักเกิดในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น มีความผิดปกติของยีนหลายชนิด เช่น ยีน GCK และ HNF1A ซึ่งส่งผลต่อการผลิตอินซูลิน
     

  • โรคเบาหวานจากโรคตับอ่อน (Pancreatogenic Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนซึ่งเป็นแหล่งสร้างอินซูลินถูกทำลาย เช่น จากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง การผ่าตัดตับอ่อน หรือโรคมะเร็งตับอ่อน

 

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในช่วงแรกมักไม่ได้แสดงอาการรุนแรงทำให้หลายคนเป็นโดยไม่รู้ตัว โดยอาการทั่วไปที่มักพบในผู้ป่วยเบาหวานมีดังนี้

 

  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน

  • หิวน้ำบ่อย ดื่มน้ำมากกว่าปกติ

  • มีอาการหิวบ่อย ทานอาหารมากขึ้น

  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

  • สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด

  • แผลหายช้าหรือแผลติดเชื้อได้ง่าย

  • มีอาการชาตามปลายนิ้วมือ ปลายนิ่วเท้า

การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวานไม่ใช่แค่เรื่องของการกินยา แต่คือการดูแลสุขภาพร่างกาย เพราะเบาหวานเป็นโรคที่อยู่กับเราไปตลอด ดังนั้น “การควบคุม” จึงสำคัญมากกว่าการ “รักษาให้หาย” เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

1. ควบคุมอาหาร

ควรรับประทานอาหารปริมาณที่เหมาะสมและควรจำกัดอาหารประเภท ของหวาน แป้ง อาหารรสเค็ม  เน้นทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักใบเขียว เลือกรับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง ชมพู่

 

หากรู้สึกตึงเครียดกับการควบคุมอาหารมากเกินไปสามารถเลือกทานอาหารแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

 

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายช่วยให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้นและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

 

3. การใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์

 

  • สำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยจำเป็นต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต

 

  • สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะพิจารณาใช้ยากิน หรือในบางรายอาจต้องฉีดอินซูลินร่วมด้วย ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน

 

ทั้งนี้การใช้ยารักษาจะต้องถูกควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยและการใช้งานที่ถูกต้อง

 

ถึงแม้เบาหวานจะยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่การควบคุมให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ และลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนได้อย่างมาก

 

การดูแลตัวเอง การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต จะช่วยให้ห่างไกลจากเบาหวานได้ทางโรงพยาบาลเชียงใหม่รามมีแพ็กเกจคัดกรองโรคเบาหวาน สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มได้ที่แผนกโรคเฉพาะทาง โทร 052-004699 เวลา 08.00-16.00 น.

 

อ่านรายละเอียดแพ็กเกจคัดกรองโรคเบาหวาน