วิธีการตรวจคัดกรองหาโรคเบาหวาน
July 04 / 2025

ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญเพราะถ้าเรารู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สามารถดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรับการรักษาได้ทันเวลา ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ดียิ่งขึ้น

ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองเบาหวาน

  • กลุมคนที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป

  • คนที่มีน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะมีค่า BMI มากกว่า 23 ขึ้นไป

  • คนที่มีประวัติครอบครัวสายตรง เช่น พ่อ แม่ หรือพี่น้อง เป็นโรคเบาหวาน

  • คนที่มีโรคความดันโลหิตสูง

  • ผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

 

วิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน

1. การตรวจระดับน้ำตาลจากปลายนิ้ว (Capillary Blood Glucose)

เป็นวิธีตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนตรวจ

 

ระดับค่าผลตรวจเบาหวาน

 

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นเบาหวาน น้ำตาลก่อนทานอาหาร ระดับค่าเลือดควรอยู่ที่ 80-130 mg/dL

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นเบาหวาน น้ำตาลหลังทานอาหาร ระดับค่าเลือดควรอยู่ที่ < 180 mg/dL

  • ผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน น้ำตาลก่อนทานอาหาร ระดับค่าเลือดควรอยู่ที่ 70-99 mg/dL

  • ผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน น้ำตาลหลังทานอาหาร ระดับค่าเลือดควรอยู่ที่ < 140 mg/dL

 

2. การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาหลังอดอาหาร (Fasting Plasma Glucose: FPG)

 

ผู้รับการตรวจต้องอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสามารถอ่านค่าระดับน้ำตาลได้ดังนี้

 

  • ค่าระดับน้ำตาลที่ปกติจะอยู่ระหว่าง 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

  • ค่าระดับน้ำตาลที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจะอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

  • ค่าระดับน้ำตาลที่อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานคือ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป

 

3. การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1c: HbA1c)

 

การตรวจ HbA1c คือการวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยจะดูจากปริมาณน้ำตาลที่ไปจับกับโปรตีนฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 3 เดือน ดังนั้นค่าระดับน้ำตาลนี้สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดว่าผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีหรือไม่และยังเป็นการคัดกรองโรคเบาหวานได้อีกด้วย

 

ข้อดีของการตรวจ HbA1c คือไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ ทำให้สะดวกและเหมาะกับการตรวจคัดกรองหรือใช้ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การอ่านค่า HbA1c เบื้องต้น

 

  • ค่าน้อยกว่า 6.0% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • ค่าระหว่าง 6.0% ถึง 6.4% แสดงถึงภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes)

  • ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน

 

4. การทดสอบความทนทานต่อระดับน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)

 

เป็นวิธีตรวจที่ใช้วัดว่าร่างกายของเราสามารถจัดการกับน้ำตาลได้ดีแค่ไหน โดยดูว่าหลังจากดื่มน้ำตาลกลูโคสแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน และลดลงกลับสู่ระดับปกติได้รวดเร็วแค่ไหน วิธีนี้เป็นการตรวจที่ละเอียดและแม่นยำ เหมาะสำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน

 

ขั้นตอนการทดสอบความทนทานต่อระดับน้ำตาล

 

  1. ผู้รับการตรวจต้องงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ

  2. ทำการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร

  3. ดื่มน้ำตาลกลูโคสที่ละลายในน้ำ

  4. เจาะเลือดหลังดื่มน้ำตาลกลูโคสไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด

 

การวัดค่าระดับน้ำตาล

 

  • น้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าปกติ

  • อยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

  • มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

 

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้เรารู้ตัวเร็ว หากพบความผิดปกติจะได้ดูแลรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ทันเวลา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี, ผู้ที่มีภาวะอ้วน, ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน หรือผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

ทางโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มีแพ็กเกจสำหรับคัดกรองโรคเบาหวานควบคุมการตรวจโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้

 

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน