ไตรกลีเซอไรด์คืออะไร ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
July 04 / 2025

ไตรกลีเซอไรด์

 

ไขมันบางชนิดในร่างกายที่อาจกลายเป็นภัยเงียบส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือดของเราได้ นั้นก็คือไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันที่พบได้ทั่วไปในเลือด มักเกิดจากการกินอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง การไม่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์

 

แม้ว่าไตรกลีเซอไรด์เป็นพลังงานสำรองของร่างกาย บางส่วนจะสะสมไว้ตามเนื้อเยื่อไขมัน บางส่วนถูกสะสมในตับ หากสะสมมากเกินไป ก็อาจทำให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงอย่าง โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง

ไตรกลีเซอไรด์คืออะไร

 

คือไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในเลือดของเรา เกิดจากไขมันที่เรากินเข้าไปจากอาหาร รวมถึงน้ำตาลหรือแป้งส่วนเกินที่ร่างกายเปลี่ยนไปเป็นไขมันเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นพลังงาน

 

เมื่อเรากินอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง ร่างกายจะนำพลังงานส่วนที่ใช้ไม่หมดไปเก็บไว้ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ และสะสมอยู่ในเซลล์ไขมัน ถ้าวันไหนร่างกายต้องการพลังงาน เช่น ออกกำลังกาย ก็จะดึงไตรกลีเซอไรด์ออกมาใช้งาน

 

ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่เหมาะสม

ค่าไตรกลีเซอไรด์จะเป็นหนึ่งในค่าที่แพทย์ใช้ประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด


 

ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

ผลการประเมิน

น้อยกว่า 150 mg/dL

อยู่ในเกณฑ์ปกติ (เหมาะสม)

150 - 199 mg/dL

อยู่ในระดับที่เริ่มสูง (เสี่ยงเล็กน้อย)

200 - 499 mg/dL

อยู่ในระดับสูง (ควรระวัง)

500 mg/dL ขึ้นไป

สูงมาก (เสี่ยงอันตราย ควรพบแพทย์โดยเร็ว)

 

ถ้าค่าไตรกลีเซอไรด์ยังอยู่ในระดับ “ต่ำกว่า 150” ถือว่าปลอดภัย แต่ถ้าค่าเริ่มขยับขึ้นไปเกิน 200 mg/dL ขึ้นไป นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังสะสมไขมันไว้มากเกินไป และอาจส่งผลต่อหลอดเลือดได้ในระยะยาว


 

โรคร้ายที่มาพร้อมกับค่าไตรกลีเซอไรด์สูง

 

1. โรคหลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน

 

เมื่อไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมีระดับสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน มันจะเข้าไปสะสมตามผนังหลอดเลือด กับไขมันชนิดอื่นจนกลายเป็นคราบพลัคที่เกาะติดตามผนังหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไป หลอดเลือดจะ แข็งตัวและตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง

 

2. โรคโรคหัวใจขาดเลือด

 

เมื่อหลอดเลือดมีคราบพลัคสะสมมากขึ้นหลอดเลือดจะตีบจนเลือดไหลผ่านได้น้อยลง ทำให้หัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอจนเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม รู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก และหากร้ายแรงกว่านั้นอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

 

3. โรคหลอดเลือดสมอง

 

ค่าไตรกลีเซอไรด์สูงสามารถเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคหลอดเลือดสมองได้ โดยเฉพาะคราบพลัคหรือไขมันสะสมอยู่บริเวณหลอดเลือดสมอง หากมีลิ่มเลือดมาอุดตัน หรือเกิดหลอดเลือดแตก อาจทำให้ สมองขาดเลือด หรือ เลือดออกในสมอง ได้ทันที

 

ผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมองอาจรุนแรงถึงขั้นร่างกายขยับไม่ได้ สูญเสียความทรงจำ หรือเสียชีวิตได้

 

วิธีสังเกตอาการของคนกำลังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

 

B (Balance): เสียการทรงตัว หรือเวียนศีรษะ

E (Eyes): มองเห็นไม่ชัด หรือสูญเสียการมองเห็นเฉียบพลัน

F (Face): หน้าบิดเบี้ยว ยิ้มแล้วมุมปากตก

A (Arms): แขนหรือขาอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น

S (Speech): พูดไม่ชัด หรือพูดติดขัด

T (Time): หากพบอาการ รีบไปโรงพยาบาลทันที

 

หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมง

 

4. ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)

 

ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม คือกลุ่มของความผิดปกติในร่างกายที่มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2

ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมจะถูกวินิจฉัยเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้

 

  • ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 mg/dL

  • ไขมันดี HDL ต่ำกว่า 40 mg/dL ในผู้ชาย และต่ำกว่า 50 mg/dL ในผู้หญิง

  • ความดันโลหิตสูงกว่า 130/85 มม.ปรอท

  • ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า 100 mg/dL

 

การตรวจเช็กระดับไตรกลีเซอไรด์และการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น การปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก จึงสำคัญมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงและดูแลหัวใจให้แข็งแรงในระยะยาว

 

ทางโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มีบริการตรวจโรคหลอดเลือดสมอง ที่ดูแลทุกขั้นตอนโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ แผนกโรคเฉพาะทาง โทร 052-004699 หรือ แผนกอายุรกรรม โทร 052-004699