มะเร็งปอดเป็นโรคที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองก็มีความเสี่ยง แม้จะไม่เป็นคนสูบบุหรี่เลยก็ตาม เพราะจริง ๆ แล้วมะเร็งปอดไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นมะเร็งปอด
สิ่งที่น่ากลัวของมะเร็งปอดก็คือ มันมักไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก แต่กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ทำให้โอกาสในการรักษาให้หายขาดลดลง บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งปอด ตั้งแต่สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม ปัจจัยเสี่ยง ไปจนถึงแนวทางการรักษาในปัจจุบัน
มะเร็งปอดคือโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมของปอดจนกลายเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ที่สามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
มะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
เป็นมะเร็งปอดที่มีลักษณะเซลล์ขนาดเล็กและมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีแนวโน้มแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายอย่าง ต่อมน้ำเหลือง สมอง กระดูก และตับ ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยในระยะที่โรคลุกลามไปแล้ว
ปัจจัยเสี่ยงหลักของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กคือ การสูบบุหรี่บ่อยสะสมเป็นเวลานาน หรือได้สัมผัสสารพิษเช่น แร่ใยหิน, รังสี
เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อยที่สุด คิดเป็นประมาณ 85-90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมดโดยมะเร็งปอดชนิดนี้จะมีความแตกต่างจากชนิดเซลล์เล็กตรงที่จะเติบโตและลุกลามช้ากว่า ทำให้มีโอกาสตรวจพบและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้มากกว่า
อาการของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กเช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เสียงแหบ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และปวดกระดูก
มะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก แต่ก็มีสัญญาณเตือนหลายอย่างที่ร่างกายแสดงออกมา ถ้าหากสังเกตให้ดี อาจช่วยให้ตรวจพบได้เร็วและมีโอกาสรักษาได้มากขึ้น
ไอเรื้อรังติดต่อหลายสัปดาห์โดยไม่มีท่าทีจะหาย
ไอมีเลือดปน หรือเสมหะเปลี่ยนสี
หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แค่เดินนิดหน่อยก็เหนื่อยหอบอาจเป็นสัญญาณว่าปอดกำลังมีปัญหา
เจ็บแน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอกเวลาหายใจโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอแล้วเจ็บหน้าอก
เสียงแหบโดยไม่ทราบสาเหตุและติดต่อกันนานหลายวัน
เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีไข้ต่ำ ๆ หรืออ่อนเพลียบ่อย ๆ โดยไม่รู้สาเหตุ
มีอาการปวดกระดูก
แนวทางการรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีหลายแบบ และจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละคน
หากมะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังไม่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกถือเป็นทางเลือกแรกที่ใช้บ่อย ใช้ได้ในผู้ป่วย มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC) และอาจต้องตัดเนื้อปอดบางส่วนขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง
การฉายรังสีเป็นวิธีการรักษามะเร็งปอดเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยวิธีนี้เน้นการส่งรังสีไปยังจุดที่มีเนื้องอกโดยตรง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุด การฉายรังสีจะใช้หลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ในปอด สามารถใช้สำหรับในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในระยะลุกลามเฉพาะที่
เคมีบำบัด หรือที่คนทั่วไปเรียกกันสั้น ๆ ว่า “คีโม” เป็นการใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย ซึ่งต่างจากการฉายรังสีหรือผ่าตัดที่ทำลายมะเร็งเฉพาะจุด เคมีบำบัดจึงมักใช้เมื่อมะเร็งปอดมีแนวโน้มจะแพร่กระจาย หรืออยู่ในระยะที่ไม่สามารถรักษามะเร็งได้ด้วยวิธีเดียว
ยาที่ใช้ในการเคมีบำบัดจะเข้าไปจัดการกับเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์ไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้และตายในที่สุดผลข้างเคียงของยานี้คือจะทำลายทั้งเซลล์ดี เซลล์ร้ายทำให้เกิดอาการผมร่วง คลื่นไส้ อ่อนเพลียได้
มะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่อาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อแสดงอาการแล้วก็มักจะอยู่ในระยะที่ลุกลาม ดังนั้นการรู้เท่าทัน “สัญญาณเตือน” อย่างเช่น ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือไอมีเลือด จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทางโรงพยาบาลเชียงใหม่ รามแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำหรือหากใครคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดสามารถเข้าไปสอบถามเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
ติดต่อสอบถามแผนกอายุรกรรมโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม โทร 052-004699